การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นผลมาจากอาหารที่ถูกทิ้งจะลดลงสุทธิ 10 เท่า หากมีการใช้ระบบห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) ในประเทศกำลังพัฒนา
เมื่อเดือนที่แล้ว Carrier ผู้นำระดับโลกด้านระบบทำความร้อน ระบบปรับอากาศ และระบบแช่เย็น ได้ประกาศเจตนารมณ์ ณ การประชุม World Cold Chain ที่สิงคโปร์ เพื่อลดอาหารที่ถูกทิ้ง พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่ "ยุคของการบริโภคอาหารอย่างคุ้มค่า" สำหรับการประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยมีตัวแทน 131 ท่านจาก 33 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งผู้นำระดับโลกจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ได้ร่วมหารือและพัฒนาแนวทางที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนในการขยายและปรับปรุงระบบห่วงโซ่ความเย็น เพื่อลดปัญหาอาหารเน่าเสียและอาหารที่ถูกทิ้ง ทั้งนี้ Carrier เป็นส่วนหนึ่งของ UTC Climate, Controls & Security ในเครือบริษัท United Technologies Corp.
วิทยากรหลักในการประชุมตลอด 2 วันประกอบด้วย Dr. Joseph Mpagalile เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมถึง Didier Coulomb ผู้อำนวยการสถาบัน International Institute of Refrigeration และ Clementine O'Connor ที่ปรึกษาด้านระบบอาหารยั่งยืน จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
สาระสำคัญจากการประชุมประกอบด้วย
- ที่ประชุมได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติข้อที่ 12.3 ที่เรียกร้องให้มีการลดขยะเศษอาหารลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2573
- FAO กำลังพิจารณาจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ Cold Chain Coalition เพื่อรับมือกับอาหารที่ถูกทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา
- สถาบัน International Institute of Refrigeration ประเมินว่า 23% ของอาหารที่เน่าเสียและอาหารที่ถูกทิ้งในประเทศกำลังพัฒนาเกิดจากการขาดแคลนห่วงโซ่ความเย็น ตัวอย่างเช่น ประเทศเอธิโอเปียมีพื้นที่สำหรับแช่เย็นอาหารเฉลี่ยเพียง 2 ลิตรต่อคนเท่านั้น ขณะที่สหรัฐอเมริกามีพื้นที่แช่เย็นอาหารเฉลี่ยถึง 344 ลิตรต่อคน
- งานวิจัยอิสระชิ้นใหม่เปิดเผยว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นผลมาจากอาหารที่ถูกทิ้งจะลดลงสุทธิ 10 เท่า หากประเทศกำลังพัฒนามีการใช้ระบบห่วงโซ่ความเย็นในระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า ระบบห่วงโซ่ความเย็นไม่เพียงช่วยให้ประชากรโลกได้รับอาหารมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอาหารที่ถูกทิ้งที่มีมากถึง 3.6 กิกะตันต่อปีด้วย ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอาหารที่ถูกทิ้งเป็นประเทศ ก็จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังยืนยันว่า การพัฒนาอย่างชัดเจนสามารถเกิดขึ้นได้จริง
- Judith Evans ศาสตราจารย์จาก London South Bank University เปิดเผยว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว อาหารที่ถูกทิ้งราว 42% เกิดขึ้นในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าต้องมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งนี้ โครงการรณรงค์ "Love Food Hate Waste" ของอังกฤษ ช่วยลดอาหารที่ถูกทิ้งในระดับครัวเรือนได้ถึง 21% นับตั้งแต่ปี 2553
- มาตรฐานอาคารสีเขียว "LEED" ของ U.S. Green Building Council ถือเป็นต้นแบบที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการกำหนดมาตรฐานระบบห่วงโซ่ความเย็นสีเขียว
"ทุกๆปีมีอาหารกว่า 1 ใน 3 ที่กลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง ทั้งๆที่กว่า 50% ของอาหารที่ถูกทิ้งเหล่านั้นสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นด้วยระบบห่วงโซ่ความเย็น" David Appel ประธานของ Carrier Transicold & Refrigeration Systems กล่าว "ทุกวันนี้ มีอาหารสดเสียง่ายเพียง 10% จากทั่วโลกที่ได้รับการแช่แข็ง ดังนั้น เรายังมีโอกาสลดอาหารที่ถูกทิ้งและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกมาก ด้วยการใช้หรือปรับปรุงระบบห่วงโซ่ความเย็น ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการแช่เย็นแบบไฮเทค Carrier จึงมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาระบบห่วงโซ่ความเย็น ด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้อย่างการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสแบ่งปัน เรียนรู้ และสร้างสรรค์ระบบห่วงโซ่ความเย็นอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดอาหารที่ถูกทิ้งในที่สุด"
นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าว Carrier ยังได้บริจาคเงิน 10,000 ดอลลาร์ให้แก่ ZeroWasteSG องค์กรเอ็นจีโอที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสิงคโปร์ ซึ่งอุทิศตนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขยะ และโปรโมทโครงการ "Save Food, Cut Waste" ของทางองค์กร
"เรารู้ว่ามีสาเหตุมากมายที่ทำให้อาหารเสียเปล่าหรือเหลือทิ้ง และหนึ่งในนั้นคือความล้าสมัยของระบบห่วงโซ่ความเย็น" John Mandyck ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ UTC และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Food Foolish: The Hidden Connection Between Food Waste, Hunger and Climate Change กล่าว "การแช่เย็นเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการถนอมและยืดอายุอาหารที่เน่าเสียง่าย ด้วยเหตุนี้ การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาระบบห่วงโซ่ความเย็นอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดอาหารที่ถูกทิ้ง และช่วยให้ประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้รับประทานอาหารสดใหม่ซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตและการมีสุขภาพดี"
เขากล่าวเสริมว่า "ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ใน "ยุคของการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า" ด้วยการใช้แหล่งพลังงานเดิมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความเจริญอย่างยั่งยืน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ก้าวมาไกลแล้วและยังไปต่อได้อีก ดังนั้น ตอนนี้ถึงเวลาของ "ยุคของการบริโภคอาหารอย่างคุ้มค่า" ด้วยการใช้แหล่งอาหารเดิมในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อประชากร 1 หมื่นล้านคน โดยต้องเพียงพอสำหรับประชากรโลกในปัจจุบันและประชากรเกิดใหม่ในปี 2593 พร้อมกันนั้นต้องลดการสร้างและปล่อยมลพิษด้วย ระบบห่วงโซ่ความเย็นสีเขียวช่วยขยายโอกาสในการเพิ่มปริมาณอาหารได้อย่างมหาศาล"
อ่านรายงานการประชุมฉบับเต็มได้ที่ NaturalLeader.com และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดอาหารที่ถูกทิ้งได้ทางทวิตเตอร์ @SmartColdChain หรือเข้าชมเว็บไซต์ Carrier.com
เกี่ยวกับ Carrier
Carrier คือผู้นำระดับโลกด้านระบบทำความร้อน ระบบปรับอากาศ และระบบแช่เย็น ซึ่งก่อตั้งโดยนักนวัตกรรมระบบปรับอากาศสมัยใหม่ ผู้เชี่ยวชาญของ Carrier นำเสนอโซลูชั่นที่มีความยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบควบคุมภายในอาคาร ตลอดจนบริการด้านพลังงานสำหรับลูกค้าทั้งในที่พักอาศัย ในเชิงพาณิชย์ การค้าปลีก การขนส่ง และธุรกิจบริการด้านอาหาร Carrier เป็นส่วนหนึ่งของ UTC Climate, Controls & Security ในเครือบริษัท United Technologies Corp. ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมอวกาศและระบบภายในอาคาร สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเข้าชม http://www.carrier.com หรือติดตามทวิตเตอร์ @SmartColdChain
No comments:
Post a Comment