บริษัท KuangChi Science (00439.HK) ส่งบอลลูนสื่อสารอัจฉริยะ "Cloud" ขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือเมืองตงกวน มณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ภายใต้สัญญาพาณิชย์มูลค่า 180 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งนับเป็นการใช้งานเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของบริษัท โดยมีคุณหยวน เป๋าเฉิง นายกเทศมนตรีเมืองตงกวน และคุณหลิว หรูเผิง ประธานบริษัท KuangChi ตลอดจนประชาชนราว 100 คน ร่วมเป็นสักขีพยานในการปล่อยบอลลูน Cloud ณ ตงกวนอีโคพาร์ค
เหตุการณ์นี้นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีสำหรับเขตเมือง บอลลูนสื่อสาร Cloud มีความยาว 48 เมตร และสูงเกือบ 20 เมตร อัดด้วยก๊าซฮีเลียมจนลอยสูงเหนือพื้นดิน 300 เมตร และพร้อมให้บริการแบบบูรณาการทั้งในด้านการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต รวมถึงการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า
Cloud เทียบได้กับเสาส่งสัญญาณที่มีความสูงมากๆหรือดาวเทียมวงโคจรต่ำ บอลลูนดังกล่าวได้รับอนุญาตให้บินเหนือตงกวนอีโคพาร์ค และยึดอยู่กับพื้นดินด้วยสายเคเบิลใยสังเคราะห์ ซึ่งเชื่อมกับศูนย์ประมวลผลข้อมูลด้วยเช่นกัน บอลลูน Cloud สามารถเติมก๊าซให้เต็มได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติกันน้ำ ทนทานต่อฟ้าผ่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของแรงดันอากาศและอุณหภูมิ โดยทนแรงลมได้ 20 เมตร/วินาทีขณะบิน และ 25 เมตร/วินาทีเมื่อยึดอยู่กับพื้นดิน
ลู่อัน หลิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ KuangChi Science กล่าวว่า บอลลูนนี้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจทางภูมิศาสตร์ การจราจร การติดตามชีวิตสัตว์ป่า ภัยธรรมชาติ ไปจนถึงการกู้ภัย
เทคโนโลยีและอุปกรณ์หลักที่ใช้ในบอลลูน Cloud ได้ช่วยชีวิตนายเทียน เจ๋อหมิง ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดินถล่มครั้งรุนแรงในเขตกวงหมิง เมืองเซินเจิ้น โดยเครื่องมอนิเตอร์มัลติฟังก์ชั่นความคมชัดสูงบนบอลลูน Cloud ได้ช่วยระบุพิกัดของอาคารที่ถูกดินถล่มทับและบันทึกข้อมูลการขุดเจาะ ขณะที่ Cloud mini ซึ่งเป็น Cloud รุ่นเล็กสำหรับใช้ในเหตุฉุกเฉิน ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบตำแหน่งที่ต้องขุดเพิ่มอีก 22 จุด ซึ่งนายเทียนถูกพบในอาคารแห่งหนึ่งบริเวณพื้นที่หมายเลข 1
บอลลูน Cloud มีความปลอดภัย คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลอยอยู่เหนือพื้นดินได้ที่ระดับความสูง 1,000-2,000 เมตร และรับน้ำหนักได้ 400 กิโลกรัม โดยสามารถรับน้ำหนักสถานีฐานแบบไร้สาย อุปกรณ์ Super Wi-Fi รวมถึงเครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุ จึงใช้งานได้อย่างหลากหลายทั้งในด้านโทรคมนาคม การวางผังและการจัดการเมือง การติดตามมลพิษในอากาศ ตลอดจนการเฝ้าระวังทางทะเล
บอลลูน Cloud ที่ลอยอยู่บนอากาศสามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมและไกลกว่าระบบส่งสัญญาณภาคพื้นดิน โดยในกรณีของเมืองตงกวนนั้น บอลลูน Cloud สามารถส่งสัญญาณ Wi-Fi ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 30 กิโลเมตร และสามารถครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3,000 ตารางกิโลเมตรเมื่อใช้ร่วมกับการส่งสัญญาณภาคพื้นดิน
เทคโนโลยีพลิกโฉมที่ใช้ใน Cloud มีความคล้ายคลึงกับเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Raytheon Company ผู้รับเหมาด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐ ต่างกันแค่เทคโนโลยีของ Raytheon ใช้เฉพาะในกองทัพเท่านั้น ดังนั้น Cloud จึงเป็นเทคโนโลยีแรกที่นำมาใช้กับพลเรือน
ทั้งนี้ ระหว่างการทดสอบที่เซินเจิ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว Cloud ประสบความสำเร็จในการส่งสัญญาณ Wi-Fi การติดตามภาคพื้นดิน และการรวบรวมข้อมูลทางทะเล
สำหรับการใช้งานที่เมืองตงกวนนั้น บอลลูน Cloud มีฟังก์ชั่นและเสถียรภาพในการทำงานมากขึ้น โดยจะทำหน้าที่ตรวจจับฝุ่นละอองในอากาศขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) รวมถึงรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น และควบคุมการจราจรในเมืองด้วยระบบอัจฉริยะ นอกจากนี้ เครือข่าย IOT และสัญญาณ Wi-Fi ที่ยิงจากบอลลูนจะช่วยให้ชาวตงกวนมีชีวิตที่ง่ายขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
Cloud เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Global Community of Innovation" (GCI) ของ KuangChi และนับเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะทำให้เทคโนโลยีจากนิยายวิทยาศาสตร์กลายเป็นความจริง สำหรับพันธมิตรในโครงการ GCI ประกอบด้วย Martin Jetpack, Near Space Traveller, Space Levitation Station, Solarship, Zwipe, HyalRoute Broadband, Parallel World, iPhoton, Super WiFi และ Smart Structure
No comments:
Post a Comment